วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารคดี


ความหมายของสารคดี

สารคดี คือ งานเขียนอย่างสร้างสรรค์ ที่มีลักษณะคล้ายบทความ แต่ไม่ใช่บทความ นักวิชาการได้อธิบายความหมายของสารคดีไว้ต่างๆกันดังนี้
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546, หน้า 1182) ได้ให้ความหมายของสารคดีไว้ว่า “สารคดี [สาระ-] น. เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริงไม่ใช่จินตนาการ เช่น สารคดีท่องเที่ยว สารคดีชีวประวัติ” ปานฉาย ฐานธรรม (ม.ป.ป., หน้า 51) อธิบายว่า “สารคดี คือ การเขียนที่เน้นข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความรู้ และความจริง เพื่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญา” ฉลวย สุรสิทธิ์ (2522, หน้า 259) อธิบายว่า

คำว่า สารคดี ถ้าแยกคำแล้วแปล ก็จะได้ความว่า สาร หมายถึง สำคัญ คดี หมายถึง เรื่อง ถ้าแปลรวมกันก็หมายถึง เรื่องใดที่มีสาระสำคัญ และถ้าเทียบคำนี้ทับคำภาษาอังกฤษจะเท่ากับคำ feature ซึ่งมีรากศัพท์ว่า fact ซึ่งแปลว่า ความจริง เพราะฉะนั้นการเขียนสารคดีจึงหมายถึง การเขียนเรื่องใดๆที่เป็นความจริง มีสาระสำคัญน่ารู้ที่แฝงด้วยความจริง เนื้อหามีสาระสำคัญที่เชื่อถือได้ 



ลักษณะของสารคดี

สารคดีเป็นงานเขียนที่ผู้เขียนมุ่งให้ผู้อ่านได้รับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก จึงเป็นข้อมูล เรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง มีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เจาะลึกด้านเนื้อหา และมีลีลาการเขียนที่สร้างความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ซึ่งมีความแตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่นๆลักษณะของสารคดี (ชลอ รอดลอย, 2551, หน้า 5; ปราณี สุรสิทธิ์, 2549, หน้า 259; พิมาน แจ่มจรัส, 2550, หน้า 410; วนิดา บำรุงไทย, 2545, หน้า 7; ศรี คณปติ, 2550, ย่อหน้า 3) มีดังนี้
  1. ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ในการเขียนสารคดี ผู้เขียนมีอิสระที่จะใช้ความสามารถในการผูกเรื่อง ลำดับความตามที่ต้องการ
  2. ความเป็นอัตวิสัย (subjectivity) ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดของตนให้ผู้อื่นได้ทราบ โดยเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสม
  3. ความมีสาระ (informativeness) สารคดีเป็นงานเขียนที่นำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่เป็นเรื่องจริง ข้อเท็จจริง ซึ่งความจริงบางเรื่องไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเขียนเป็นข่าว แต่สามารถนำมาเขียนเป็นสารคดี ที่ให้สาระและแง่คิดได้
  4. ความบันเทิง (entertainment) ผู้เขียนมุ่งให้ความรู้ที่น่าสนใจ และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการอ่านข่าว
  5. ความไม่ล้าสมัย (unperishable) สารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่ไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านเวลา ซึ่งแตกต่างจากข่าวที่ต้องสด รวดเร็วต่อเหตุการณ์
จะเห็นได้ว่าสารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่แตกต่างจากงานเขียนประเภทอื่น เพราะมีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริง มีรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เจาะลึกด้านเนื้อหา จึงทำให้สารคดีนั้นเป็นงานเขียนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก


ประเภทของสารคดี


สารคดีสามารถจำแนกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท (การเขียนสารคดี, 2553, ย่อหน้า 4) ดังนี้ 

1. สารคดีประวัติบุคคล 

สารคดีบุคคลแบ่งได้ 2 ประเภทได้แก่

  • สารคดีอัตชีวประวัติ หมายถึง สารคดีที่เจ้าของประวัติเขียนเล่าประวัติและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
  • สารคดีชีวประวัติ หมายถึง สารคดีที่มีผู้อื่นกล่าวถึง อาจเป็นชีวประวัติรวมหลายๆชีวิตในเล่มเดียว หรือาจเป็นชีวประวัติของบุคคลเดียวก็ได้


2. สารคดีท่องเที่ยว 
สารคดีท่องเที่ยว เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องราวการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆมุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยที่เป็นคู่มือการเดินทาง เช่น เส้นทางการเดินทาง ที่พัก อาหาร ฯลฯ นอกจากนั้นผู้เขียนมักให้ข้อสังเกต และแสดงทัศนะต่อสิ่งที่พบเห็นไว้ด้วย 


3. สารคดีแนะนำ 
สารคดีแนะนำจะมีเนื้อหาหลากหลาย ครอบคลุมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกแง่มุม ตั้งแต่เรื่องปัจจัยสี่ การประกอบอาชีพ จนถึงการพักผ่อนหย่อนใจ 

จากข้อความข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าสารคดีจำแนกออกเป็น 3 ประเภทคือ

  1. สารคดีชีวิตบุคคล
  2. สารคดีท่องเที่ยว
  3. สารคดีแนะนำ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น